การล้างจมูก (Nasal Irrigation) คือกระบวนการทำความสะอาดโพรงจมูกด้วยการใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (น้ำเกลือ isotonic ที่มีความเข้มข้น 0.9 เปอร์เซ็นต์) เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เมือก และสารก่อภูมิแพ้ที่สะสมอยู่ในโพรงจมูก การล้างจมูกไม่เพียงแต่จำเป็นเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยหรือเป็นโรคภูมิแพ้เท่านั้น แต่คนสุขภาพแข็งแรง ที่มีความต้องการที่จะดูแลจมูกทั้ง ผู้ใหญ่ และเด็กก็สามารถล้างจมูกได้เช่นกัน
การล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไร?
1.การขจัดสารระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้
ในชีวิตประจำวัน โพรงจมูกของเรามีโอกาสสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ รวมถึงมลพิษต่าง ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ เมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่โพรงจมูกจะก่อให้เกิดอาการคัดจมูก จาม และน้ำมูกไหล มักพบในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ซึ่งการล้างจมูกจะล้างเอาสิ่งสกปรกและสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ออกจากโพรงจมูก จึงช่วยลดอาการแพ้และทำให้หายใจสะดวกขึ้น
2.ลดการอักเสบของโพรงจมูกและไซนัส
การล้างจมูกช่วยขจัดน้ำมูกและเมือกที่สะสมในโพรงจมูกและไซนัส เมือกที่สะสมเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยล้างเมือกที่ค้างอยู่ ลดโอกาสการเกิดการอักเสบหรือไซนัสอักเสบได้ดี โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาไซนัสอักเสบเรื้อรัง
3.ส่งเสริมสุขอนามัยโพรงจมูก
การล้างจมูกอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นวิธีดูแลรักษาความสะอาดของโพรงจมูกที่ดี เมื่อทำเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดหรือในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง การล้างจมูกจะช่วยป้องกันเชื้อโรคไม่ให้สะสมในโพรงจมูก ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้ ทั้งเชื้อไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ
4.บรรเทาอาการคัดจมูกและหายใจติดขัด
การคัดจมูกเกิดจากการสะสมของเมือกและการอักเสบของเยื่อบุจมูก ส่งผลให้ทางเดินหายใจอุดตันได้ง่าย ซึ่งการล้างจมูกจะช่วยระบายเมือกที่อุดตันในโพรงจมูกและลดอาการอักเสบ ทำให้โพรงจมูกโล่งขึ้นและสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการคัดจมูกจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้
5.ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้โพรงจมูก
ในบางกรณี อาทิ เมื่ออยู่ในสภาพอากาศแห้ง หรือใช้เครื่องปรับอากาศเป็นเวลานาน อาจทำให้โพรงจมูกแห้ง และก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเลือดกำเดาไหลได้ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้เยื่อบุโพรงจมูก ป้องกันการแห้งและบรรเทาอาการระคายเคืองในโพรงจมูก
6.ช่วยรักษาภาวะหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) และการนอนกรน
ผู้ที่มีภาวะหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) หรือมีปัญหานอนกรน มักมีสาเหตุจากการอุดตันในโพรงจมูกหรือทางเดินหายใจ ดังนั้นการล้างจมูกจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น หายใจได้สะดวกขณะนอนหลับ ลดอาการนอนกรน และปรับปรุงคุณภาพการนอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7.การเตรียมจมูกก่อนการใช้ยาพ่นจมูก
ผู้ที่ใช้ยาพ่นจมูก ทั้งกลุ่มยารักษาโรคภูมิแพ้หรือยารักษาไซนัส การล้างจมูกให้สะอาดก่อนการพ่นยาจะทำให้ยาที่พ่นสามารถออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น เนื่องจากยาสามารถสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกได้โดยตรงและกระจายไปทั่วโพรงจมูกได้ดียิ่งขึ้น
8.ลดการใช้ยาลดอาการคัดจมูก
การล้างจมูกเป็นวิธีที่ลดอาการคัดจมูกที่นอกจากการพึ่งพายาในการบรรเทาอาการคัดจมูก โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ยาพ่นจมูกหรือยาลดน้ำมูกบ่อย ๆ การล้างจมูกช่วยให้คุณสามารถควบคุมอาการได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งยา รวมถึงลดความเสี่ยงจากการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานได้อีกด้วย
ใครที่บ้างที่ควรล้างจมูก
- ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ผู้ที่มีอาการแพ้ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ หรือสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ จะมีการสะสมของสารเหล่านี้ในโพรงจมูก การล้างจมูกจะช่วยขจัดสารก่อภูมิแพ้ออกจากโพรงจมูก ทำให้อาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหลลดลง และรู้สึกสบายขึ้น
- ผู้ที่เป็นโรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ไซนัสอักเสบเป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุโพรงไซนัสโพรงอากาศข้างจมูเกิดการอักเสบบวมจากการติดเชื้อ การล้างจมูกสามารถขจัดน้ำมูกที่สะสมในโพรงจมูกและไซนัส ซึ่งช่วยลดการอักเสบและช่วยระบายของเสียออกจากโพรงไซนัส ทำให้หายใจสะดวกขึ้น
- ผู้ที่เป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ การล้างจมูกสามารถลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือความอุดตันในโพรงจมูกที่มักเกิดขึ้นเมื่อเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ได้ ด้วยการขจัดเอาเชื้อโรคและเมือกที่เป็นแหล่งสะสมออกไป
- ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองมาก สำหรับผู้ที่อาศัยหรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองหรือมลพิษทางอากาศ การล้างจมูกจะช่วยขจัดฝุ่นหรือสารมลพิษที่เข้าไปสะสมในโพรงจมูก ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการระคายเคืองหรืออักเสบในระบบทางเดินหายใจ
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทางจมูก ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดทางจมูก เช่น การผ่าตัดไซนัสหรือการผ่าตัดเนื้องอกในจมูก แพทย์อาจแนะนำให้ล้างจมูกเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นและป้องกันการติดเชื้อหรือน้ำมูกสะสม
- ผู้ที่มีปัญหาการนอนกรนหรือนอนหลับไม่สนิท บางคนที่มีปัญหานอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอาจมีสาเหตุมาจากการอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบน การล้างจมูกช่วยทำความสะอาดทางเดินหายใจและลดการอุดตัน ทำให้หายใจได้ดีขึ้นขณะนอนหลับ
- ผู้ที่มีอาการแห้งในโพรงจมูก ผู้ที่อยู่ในสภาพอากาศที่แห้งหรือใช้เครื่องปรับอากาศเป็นประจำ มักมีปัญหาเรื่องจมูกแห้งหรือเยื่อบุจมูกแห้ง การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันการระคายเคืองในโพรงจมูก
- ผู้ที่มีอาการหายใจลำบาก บุคคลทั่วไปที่มีปัญหาการหายใจไม่สะดวก ไม่ว่าจะมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ป่วยเป็นหวัด หรือเป็นโรคหอบหืด ต่างได้รับประโยชน์จากการล้างจมูกทั้งสิ้น เพราะการล้างจมูกที่ถูกวิธีจะช่วยลดการอุดตันและเพิ่มการไหลเวียนของอากาศในโพรงจมูก ช่วยให้สามารถหายใจได้คล่องขึ้น
อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการล้างจมูก
การล้างจมูกที่ดีต่อสุขภาพ ควรต้องล้างด้วยน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อ Isotonic sterile Saline Solution หรือสามารถทำน้ำเกลือเองได้ด้วยการผสมน้ำต้มสุก (ที่ปล่อยให้เย็น) กับเกลือบริสุทธิ์ (ไม่เจือสารอื่น) ในอัตราส่วนที่เหมาะสม (น้ำเกลือ 0.9 เปอร์เซ็นต์ Sodium Chloride)หรือ isotonic เนื่องจากน้ำเกลือจะช่วยล้างเมือกและสิ่งสกปรกออกจากโพรงจมูกโดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุโพรงจมูก ต่างกับน้ำเปล่าที่เพียงแค่ชะล้างสิ่งสกปรกบางส่วนออกไปเท่านั้น
ขวดล้างจมูกเป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ล้างจมูกโดยเฉพาะ ซึ่งมีหัวจุกสำหรับปล่อยน้ำเกลือเข้าสู่โพรงจมูกได้ง่ายและแม่นยำ เช่น ขวดไซริงค์ หรืออุปกรณ์ล้างจมูกที่ใช้แรงดันอ่อน ๆ เป็นต้น
ขั้นตอนการล้างจมูกที่ถูกต้อง
- เริ่มจากการล้างมือและขวดล้างจมูกให้สะอาด
- เทน้ำเกลือสำหรับล้างจมูกลงในขวดล้าง ประมาณ 10 ถึง 15 มิลลิลิตร สำหรับผู้ใหญ่ และปริมาณ 5 มิลลิลิตร สำหรับเด็ก
- จากนั้นให้โน้มตัวเหนืออ่างล้างหน้า ก้มหน้า สอดจุกจากขวดล้างเข้าไปในรูจมูกเล็กน้อย และค่อย ๆ ฉีดพ่นน้ำเกลือเข้ารูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง (กลั้นหายใจในขณะล้างจมูก) ซึ่งน้ำเกลือและสิ่งอุดตันในจมูกจะไหลออกจากรูจมูกทั้ง 2 ข้าง
- สั่งน้ำมูกที่ค้างอยู่ออกเบา ๆ บางคนอาจมีน้ำเกลือบางส่วนไหลออกมาทางปากให้บ้วนทิ้งด้วย
- ล้างจมูกด้วยวิธีเดิมในจมูกอีกข้างหนึ่ง และทำซ้ำสลับทั้งสองข้างจนรู้สึกหายใจโล่งขึ้น
- เมื่อล้างจมูกเสร็จแล้ว อย่าลืมล้างอุปกรณ์ทำความสะอาดทุกชิ้นด้วยน้ำเปล่าและผึ่งให้แห้ง
การล้างจมูกมีอันตรายหรือไม่?
การล้างจมูกสามารถทำได้อย่างปลอดภัยและมีประโยชน์หากปฏิบัติอย่างถูกต้อง แต่หากทำไม่ถูกวิธีหรือใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด อาจเกิดความเสี่ยงหรือมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพร่างกายได้เหมือนกัน ดังนี้
- การติดเชื้อ: หากใช้น้ำที่ไม่สะอาดหรือน้ำประปาที่ไม่ผ่านการกรองหรือฆ่าเชื้อล้างจมูก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงจมูกหรือไซนัส เนื่องจากเชื้อโรคในน้ำอาจเข้าสู่ร่างกาย
- การทำให้จมูกแห้งเกินไป: การล้างจมูกบ่อยเกินไปหรือใช้สารละลายที่มีความเข้มข้นไม่เหมาะสม เช่น สารละลายเกลือที่มีความเข้มข้นสูง อาจทำให้โพรงจมูกแห้งและเกิดการระคายเคือง
- อาการระคายเคืองหรือเจ็บในโพรงจมูก: การใช้อุปกรณ์ล้างจมูกที่อยู่ในกลุ่มแรงดันสูง ซึ่งในบ้างครั้งจะเกิดแรงดันสูงเกินไป หรืออุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมในการล้างจมูกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือบาดเจ็บในโพรงจมูกได้
- น้ำเข้าหูชั้นกลาง: หากล้างจมูกด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง และใช้อุปกรณ์ล้างจมูกกลุ่มแรงดันสูง อาจทำให้น้ำซึมเข้าหูชั้นกลางผ่านท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือหูอื้อได้
ข้อควรระมัดระวังเมื่อล้างจมูก
1.ใช้น้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อ
- น้ำเกลือ: ควรใช้น้ำเกลือ Sodium Chloride 0.9 เปอร์เซ็นต์ ชนิดปราศจากเชื้อเท่านั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนและไม่ระคายเคืองโพรงจมูก
- หลีกเลี่ยงน้ำเปล่า: ห้ามใช้น้ำประปาหรือสารละลายอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการแนะนำ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการสำลักหรือแสบโพรงจมูก
2.ความดันน้ำเกลือ
- ไม่ควรฉีดที่ทำให้เกิดแรงดันสูง: ควรระมัดระวังไม่ให้ฉีดน้ำเกลือด้วยแรงมาก เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในโพรงจมูกหรือทำให้โพรงจมูกอักเสบได้
- ควรฉีดที่ทำให้เกิดแรงดันน้อย: การฉีดน้ำเกลือควรทำอย่างช้า ๆ เพื่อให้กระบวนการล้างจมูกเป็นไปอย่างเรียบร้อยและปลอดภัย
3.วิธีการสั่งน้ำมูก
- สั่งน้ำมูกเบาๆ: ควรสั่งน้ำมูกและเช็ดจมูกเบา ๆ เพราะการสั่งน้ำมูกแรง ๆ อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือหูอักเสบได้
- ไม่ควรอุดรูจมูก: ในขณะที่สั่งน้ำมูก ไม่ควรอุดรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ควรสั่งพร้อมกันทั้งสองข้างเพื่อป้องกันการเกิดความดันในหู
4.การใช้ยาพ่นหลังจากล้างจมูก
- รอให้แห้ง: หากต้องการใช้ยาพ่นหลังจากล้างจมูก ควรรอให้โพรงจมูกแห้งก่อนอย่างน้อย 3 ถึง 5 นาที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นและลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียง
5.ความถี่ในการล้างจมูก
- ไม่ควรล้างบ่อยเกินไป: การล้างจมูกสามารถทำได้ตามความจำเป็น แต่ไม่ควรทำบ่อยเกินไป โดยทั่วไปแล้วสามารถทำได้วันละ 2 ถึง 3 ครั้งเมื่อมีอาการคัดจมูกหรือรู้สึกไม่สบาย
- ฟังเสียงร่างกาย: หากรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดปกติหลังจากการล้างจมูก ควรหยุดและปรึกษาแพทย์
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : https://www.sikarin.com/health/nasal-irrigation